Pages

Wednesday, July 15, 2020

ตำรวจ-แพทย์แจงยิบ คดีน้องชมพู่ ยันผลชันสูตรครั้งแรกน่าเชื่อถือที่สุด ชี้สื่อฯ วุ่นกับพยาน - ช่อง 7

buahasema.blogspot.com
พลตำรวจเอกสุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นตัวแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชี้แจงการปฏิบัติงานในการสืบสวนหาคนร้ายในคดี “น้องชมพู่” ต่อกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร หลังคดีนี้ที่กลายเป็นประเด็นดรามาต่อเนื่อง และมีการนำเสนอข่าวเจาะลึกรายวันทั้งในส่วนพยานหลักฐานทางคดี ประเด็นความเชื่อ ไสยศาสตร์ และความขัดแย้งทั้งในครอบครัวของผู้เสียชีวิตและบุคคลในพื้นที่เกิดเหตุจนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง

โดยรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ระบุว่าตลอดกว่า 2 เดือนที่ผ่านมา ตำรวจมีแนวทางในการให้ข่าวเท่าที่มีความจำเป็น เพื่อป้องกันไม่ได้เกิดความสับสนในสังคมและคำนึงถึงสิทธิส่วนบุคคล รวมถึงการสืบสวน แต่ก็ไม่สามารถสู้กระแสที่เกิดขึ้นได้

คดีนี้ย้อนกลับไปวันที่ 15 พฤษภาคม แม่ของเด็กหญิงได้มีการร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน โดยระบุว่า “ครอบครัวไม่เชื่อว่าเด็กจะเดินขึ้นไปบนเขาเอง น่าจะมีใครทำให้เกิดเรื่องนี้ขึ้น” พนักงานสอบสวนจึงได้รับคำร้องทุกข์กรณีการพาผู้เยาว์ไปและกรณีทำให้เกิดการเสียชีวิต และเริ่มการสืบสวน

ต่อมาตำรวจพบวัตถุพยานหลายอย่างจากศพ เช่น เส้นผม ซึ่งสามารถตรวจหา DNA ออกมาได้ จึงนำไปสู่การค้นหาตัวอย่าง DNA มาเปรียบเทียบว่ามีใครเข้าไปในที่เกิดเหตุบ้าง โดยคนในหมู่บ้านมีประมาณ 278 คน แต่ตำรวจมีการไปซักถามประชาชนกว่า 900 คน ซึ่งก็มีเพียง 63 คน ที่ถูกนำมาเป็นพยาน แบ่งเป็น 1. คนในครอบครัว 2. คนที่อาจเข้าไปในที่เกิดเหตุ และ 3. บุคคลพ้นโทษ

มีการตรวจเก็บ DNA ประมาณ 100 กว่าคน ซึ่งคดีนี้ไม่ใช่คดีแรกที่มีการเก็บ DNA จำนวนมาก และยืนยันว่าตำรวจไม่มีการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เพราะคนในพื้นที่ส่วนใหญ่ต้องการให้เกิดความกระจ่างและยินดีแสดงความบริสุทธิ์ใจ แต่ขณะเดียวกันสื่อมวลชนมีการติดตามนำเสนอข่าววันละเป็นชั่วโมงจนเกิดปัญหาการนำเสนอภาพขณะตำรวจเข้าไปเก็บพยานหลักฐานหรือตัวอย่าง DNA แม้ตำรวจจะพยายามหลีกเลี่ยงและตามมาด้วยการสัมภาษณ์บุคคลนั้นๆ จนกลายเป็นประเด็นในสังคม ซึ่งทั้งหมดยืนยันว่าตำรวจไม่เคยใช้คำว่า “ผู้ต้องสงสัย” เลย แต่เป็นการพิสูจน์ข้อเท็จจริง

ส่วนการตรวจสอบศพ “น้องชมพู่” มีทั้งหมด 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 โรงพยาบาลดงหลวง เป็นการตรวจภายนอก ครั้งที่ 2 ที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ เป็นการผ่าชันสูตร และครั้งที่ 3 ที่สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ เป็นการผ่าชันสูตรซ้ำตามคำร้องของครอบครัว

คดีนี้เกิดการสืบสวนบนโลกออนไลน์ที่มีการด่วนสรุปไปเองแล้ว เช่นเด็กเสียชีวิตเอง เดินออกไปเองหรือถูกฆาตกรรม ขอยืนยันว่าตำรวจยังไม่ได้ชี้ไปในทางใด ซึ่งหลังจากนี้หากการสืบสวนดำเนินไปจนสิ้นกระแสความ ก็จะมีการนำข้อมูลมาเปิดเผยต่อสังคมอย่างแน่นอน

โดยช่วงหนึ่งของการชี้แจง พลตำรวจเอกสุวัฒน์ระบุว่า “เรื่องนี้เป็นคดีแรกในชีวิตและไม่เคยเห็นที่ไหนในโลกด้วยที่มีประเด็นให้เสนอข่าวได้ทุกวันติดต่อกัน 60 กว่าวัน ไม่เคยเจอ ถามว่าเป็นการกดดันไหม ไม่มีใครกดดันการทำงานเจ้าหน้าที่ได้ เพราะเราเดินตามพยานหลักฐาน แต่สิ่งที่จะเป็นปัญหาอยู่บ้างก็เรื่องการทำงาน ทำให้ยากขึ้นเท่านั้นเอง ส่วนเรื่องที่ทำให้เกิดความสับสนอลหม่านบนโลกโซเชียลมีเดีย อันนี้ก็จนใจ เพราะว่าตำรวจพูดได้เท่าที่จำเป็นต้องพูดเท่านั้น”

ด้านนายแพทย์ศักดิ์สิทธิ์ บุญญลักษณ์ แพทย์นิติเวช โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ผู้ผ่าชันสูตรศพ “น้องชมพู่” เป็นคนแรก ได้ชี้แจงยืนยันข้อมูลตามที่มีการเสนอข่าวก่อนหน้านี้ โดยระบุว่าได้ผ่าศพน้องชมพู่ โดยละเอียด พบบาดแผลเฉพาะรอยถลอกขีดข่วนตามร่างกาย ส่วนบาดแผลที่เป็นลักษณะของการทำร้ายหรือร่องรอยการบาดเจ็บจนถึงแก่ความตายไม่มี รวมถึงไม่มีในส่วนร่องรอยการล่วงละเมิดทางเพศหรือว่ามีการร่วมเพศ

ขณะที่ นายแพทย์ภาณุวัฒน์ ชุติวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่าคดีน้องชมพู่ เป็นหนึ่งในกรณีที่สะท้อนปัญหาหลายด้าน สื่อมวลชนมีการเข้าไปถามข้อมูลจากพยานถึงในครอบครัวและมีการจับเท็จระหว่างสื่อมวลชนด้วยกัน ซึ่งสร้างความกดดันต่อฝ่ายปฏิบัติงาน อย่างเช่นแพทย์แน่นอน

สำหรับประเด็นการผ่าชันสูตรศพซ้ำที่มีความเชื่อกันว่าจะทำให้เกิดความชัดเจนขึ้นและเชื่อผลการผ่าศพครั้งที่ 2 มากกว่า ยืนยันว่าในทางนิติเวช ไม่มีทางจะได้ข้อมูลมากกว่าครั้งแรก และถือเป็นเรื่องยากมากในการเก็บพยานหลักฐาน ซึ่งมีความเป็นไปได้เพียงแค่ร้อยละ 5 เท่านั้น ในทางกลับกัน ผลครั้งที่ 2 อาจถูกนำไปชี้นำให้สอดคล้องกับความคิดในสังคม และแพทย์ก็ตกเป็นจำเลย

กรณีลักษณะนี้คือ การมาผิดทาง เพราะเมื่อผลการผ่าศพครั้งแรกไม่พอใจแล้วจะต้องมีการส่งไปผ่าครั้งที่ 2 เสมอ ยิ่งทำให้ประชาชนรู้สึกไม่มั่นใจในการทำหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานหรือแพทย์ตามภูมิภาค และเมื่อผลออกมาต่างกันก็เกิดความสับสน

ส่วนกระบวนการทางนิติเวชเอง ไม่สามารถอธิบายได้ทุกอย่างและไม่สามารถนำไปตั้งธงสาเหตุการเสียชีวิตหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งต้องใช้การสืบสวนโดยตำรวจ “คดีน้องชมพู่” จึงถือเป็นแนวทางในคดีอื่นๆ หลังจากนี้ที่เป็นประเด็นสงสัย ควรจะต้องใช้วิธีการที่จะทำให้ข้อมูลออกมาชัดเจนและไม่สร้างความสับสน

Let's block ads! (Why?)



"การมา" - Google News
July 15, 2020 at 05:27PM
https://ift.tt/3h4s8y6

ตำรวจ-แพทย์แจงยิบ คดีน้องชมพู่ ยันผลชันสูตรครั้งแรกน่าเชื่อถือที่สุด ชี้สื่อฯ วุ่นกับพยาน - ช่อง 7
"การมา" - Google News
https://ift.tt/3cm7t5w
Home To Blog

No comments:

Post a Comment