White Paper โครงการดอลลาร์ดิจิทัลของกลุ่มเอกชน เปิดตัวเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่ผ่านมา เอกสารฉบับนี้จะกระตุ้นรัฐบาลสหรัฐฯ ถึงขั้นนำไปเป็นโมเดลสร้างสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางสหรัฐฯ (US CBDC) หรือไม่ และจะช้า - เร็วเพียงใดต้องจับตา หลังจากหยวนดิจิทัลนำโด่งทดสอบใช้งานไปแล้วใน 4 เมือง
หากมองไปยังประเทศมหาอำนาจที่กำลังท้าชนกันระหว่างสหรัฐ-จีน นอกเหนือไปจากสงครามการค้าและสงครามด้านเทคโนโลยีแล้ว สงครามด้านการเงินก็น่าจับตาไม่น้อย
ตลอด 1 เดือนเศษมานี้ ข่าวคราวของหยวนดิจิทัลถูกพูดถึงกันมาก ทั้งจากสื่อต่างประเทศ และแวดวงสื่อของไทย ไม่เว้นแม้แต่ข่าวคราวของลิบราเฟซบุ๊กก็เช่นกัน แต่หยวนดิจิทัลดูจะมีความเป็นรูปธรรมมากกว่า ด้วยเพราะเริ่มมีการทดลองใช้งานแล้ว แต่ลิบรายังเป็นแค่เปเปอร์ จะดีขึ้นมาอีกหน่อยก็คือเป็นเปเปอร์เวอร์ชัน 2.0 ที่เน้นเอาใจหน่วยงานกำกับมากขึ้น
จีน กำลังมีหยวนดิจิทัลซึ่งออกโดยรัฐบาลชื่อ DCEP เป็นเงินที่ถูกต้องตามกฎหมายเพียงแต่อยู่ในรูปของดิจิทัล ส่วนฝั่งของรัฐบาลสหรัฐฯ ยังไม่มีท่าทีชัดเจนในการสร้าง "ดอลลาร์ดิจิทัล" แม้อาจมองได้ว่าฝั่งสหรัฐฯ ก็มี "ลิบรา" แต่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า "ลิบรา" นั้นเป็นของภาคเอกชน ไม่ใช่โมเดลของสกุลเงินที่ออกโดยรัฐบาลสหรัฐ
แต่ทว่า..ความเคลื่อนไหวล่าสุดเมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่ผ่านมา สื่อนอกรายงานการเปิดตัว White Paper ของ “โครงการดอลลาร์ดิจิทัล” สู่สาธารณชนเป็นครั้งแรก ซึ่งจริงๆ แล้วทางทีมผู้ก่อตั้งได้เปิดตัวโครงการไปตั้งแต่กลางเดือนมกราคม 2563 แต่กระแสการพูดถึงของโครงการนี้ไม่มากเท่ากับลิบรา แม้จะเป็นโครงการของเอกชนเช่นกัน ส่วนหนึ่งอาจเพราะชื่อเสียงทีม ผู้ก่อตั้งหลัก และที่สำคัญคือการลงลึกในรายละเอียดของโครงการดอลลาร์ดิจิทัล ที่ยังไม่มีในทางเทคนิค
“โครงการดอลลาร์ดิจิทัล” เกิดจากความร่วมมือระหว่างบริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจระดับโลกอย่าง Accenture และมูลนิธิดอลลาร์ดิจิทัล (ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร) ที่ก่อตั้งขึ้นโดยอดีตผู้นำของ CFTC อย่างไรก็ตาม เป้าหมายและแนวคิดของโครงการนี้เป็นมิตรกับรัฐบาลสหรัฐฯ และมุ่งนำเสนอแนวทางในการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC) ให้กับเฟด
ดังนั้น จึงนับว่าเป็นนิมิตรหมายอันดี หากรัฐบาลสหรัฐฯ จะพิจารณาโมเดลที่นำเสนอในเอกสารและนำไปต่อยอดสู่การสร้าง “ดอลลาร์ดิจิทัล” ให้เกิดขึ้นจริง เพื่อรักษาการ์ดสถานะสกุลเงินสำรองอันดับ 1 ของโลกที่ตอนนี้เริ่มสั่นคลอนมากขึ้น เพราะคู่ปรับอย่างจีนงวดเข้ามาแล้ว จีนใกล้จะเปิดใช้งานหยวนดิจิทัล หลังจากที่เป็นเสือซุ่มศึกษาและพัฒนา CBDC มากว่า 5 ปี (หากเฟซบุ๊กไม่เปิดตัวโครงการลิบรา จีนอาจจะยังอุบเรื่อง CBDC อยู่ก็เป็นได้ แต่รอเซอร์ไพรซ์เปิดตัวใช้งานรวดเดียวเลย)
*รายละเอียดใน White Paper ยังเป็นเพียงแค่ทฤษฎี
โครงการดอลลาร์ดิจิทัล (Digital Dollar Project) มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการวิจัย และการอภิปรายสาธารณะต่างๆ เกี่ยวกับข้อได้เปรียบที่อาจเกิดขึ้นจากการ tokenized dollar จากเงินกระดาษเป็นดิจิทัล ด้วยการจัดประชุมผู้นำทางความคิด และตัวแทนจากภาคเอกชน พร้อมกับเสนอรูปแบบที่เป็นไปได้ให้ภาครัฐพิจารณาในการสร้าง US CBDC หรือดอลลาร์ดิจิทัล
White Paper บอกถึงภาพกว้างถึงความจำเป็นว่าทำไมสหรัฐฯ ต้องพิจารณาการสร้างดอลลาร์ดิจิทัลและวางโมเดลว่า หากสร้างขึ้นมาควรจะเป็นแบบสองขั้นเหมือนระบบการเงินในปัจจุบัน กล่าวคือ ธนาคารกลางเป็นผู้กระจายเงินผ่านธนาคารพาณิชย์ไปยังประชาชน ดังที่ “Daniel Gorfine” อดีตหัวหน้าสำนักงานนวัตกรรมฟินเทคของ CFTC ผู้ก่อตั้งบอกว่า โครงการนี้จะดำเนินงานภายในขอบเขตของกฎระเบียบที่มีอยู่เดิม ไม่ใช่การเกิดขึ้นมาเพื่อล้มระบบการเงินในปัจจุบันของสหรัฐอเมริกา
ขณะที่ “J.Christopher Giancarlo” อดีตประธาน CFTC ผู้ก่อตั้งอีกรายกล่าวว่า การพัฒนา CBDC ของแต่ละประเทศจะมีวิธีการที่เหมาะสมตามคุณลักษณะเฉพาะ อย่างเช่น ประเทศจีนที่ทำโครงการขนาดใหญ่ในระดับชาติ เช่น หยวนดิจิทัล ก็จะถูกขับเคลื่อนโดยพรรคคอมมิวนิสต์ส่วนชาวยุโรปจะขับเคลื่อนโดยภาครัฐ ขณะที่สหรัฐอเมริกาโครงการขนาดใหญ่ที่ผ่านมาเกิดจากความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน เช่น โครงการอวกาศ และโครงการดอลลาร์ดิจิทัลก็เช่นกัน
Giancarlo กล่าวว่า กระบวนการสร้างเงินดอลลาร์ดิจิทัลอาจใช้เวลา 5 - 10 ปี เพราะไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ในข้ามแค่วัน แต่สิ่งที่สำคัญในตอนนี้คือ "ต้องเริ่มแล้ว"
Giancarlo และ Gorfine มองโครงการนี้เป็นเรื่องในระยะยาว การพัฒนาอาจต้องใช้เวลา ซึ่งสหรัฐอเมริกาต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ ชาญฉลาด และสุขุม ไม่ใช่เรื่องที่ต้องรีบทำอย่างเร่งด่วน และในภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกในปัจจุบันจากวิกฤตโควิด-19 อย่างน้อยก็ทำให้ผู้คนพูดถึงดอลลาร์ดิจิทัลมากขึ้น โดยเฉพาะการที่ภาครัฐพูดถึงการหาหนทางหรือกลไกการส่งมอบเงินช่วยเหลือจากผลกระทบไวรัสโควิด-19 ให้ถึงมือของผู้คนอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้น
*มุมมองผู้เชี่ยวชาญวงการคริปโทฯ ในไทย
“หนึ่ง” ปรมินทร์ อินโสม ผู้ก่อตั้งและทีมพัฒนาหลักของคริปโทฯ ประเภทเน้นความเป็นส่วนตัว Zcoin มองว่า การเปิดตัว White Paper ออกมาในช่วงนี้เป็นการโหนกระแสมากกว่า อาศัยจังหวะที่ผู้คนเริ่มพูดถึงหยวนดิจิทัล และธนาคารกลางหลายแห่งก็เริ่มศึกษา แต่ทำไมรัฐบาลสหรัฐยังไม่มี ซึ่งโครงการนี้ไม่ได้เป็นของรัฐบาลแต่เป็นของเอกชน โดยอาศัยชื่อเสียงของอดีตบุคลากรจากหน่วยงานกำกับซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง แต่ทว่าก็ไม่ได้มีประวัติการทำงานที่เกี่ยว ข้องกับคริปโทเคอร์เรนซี
ปรมินทร์ กล่าวว่า โครงการของลิบรา มีความชัดเจนว่าจะใช้บล็อกเชนอะไร กระเป๋าเงินอะไร มีการลงในรายละเอียด แต่โครงการนี้ยังไม่ลงรายละเอียดว่าจะใช้บล็อกเชนหรือไม่ และจะเป็นบล็อกเชนแบบใด แบบไพรเวทบล็อกเชนหรือพับบลิคบล็อกเชน และจะให้ความเป็นส่วนตัวในการใช้งานหรือว่าจะเปิดหมด
"คือถ้าเทียบกับลิบรานี่คนละชั้นเลย… เขายังไม่มีการลงในรายละเอียด แต่อ่านแล้วมันดูดีนะ และเข้าใจนะ ด้วยในทีมของเขาเป็นผู้บริหารส่วนใหญ่ อาจจะถนัดด้านกลยุทธ์ธุรกิจ เขาจึงไม่ลงด้านเทคนิค แต่ถ้าดูกันจริงๆ แล้ว หากมีการ implement โครงการนี้ให้เกิดขึ้นได้จริง มันน่าจะเป็นในส่วนของ Accenture มากกว่าที่จะเป็นผู้ได้ประโยชน์" ปรมินทร์ กล่าว
“จังหวะมันได้ ใครๆ ก็พูดถึงหยวนดิจิทัลทุกคนก็ถาม แล้วรัฐบาลอเมริกาไม่ทำหรือ เค้าก็เลยทำโปรเจกต์นี้ออกมาเพื่อที่ว่าถ้ามันจุดติดจริงๆ อย่างน้อยก็มีคนมาใช้ของเขา แล้วเขาก็สามารถทำกำไรได้” ปรมินทร์ กล่าว
ปรมินทร์ มองว่า ก็อาจจะเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะนำแนวคิดนี้ไปทำ เพราะถือว่ามีเอกชนคิดให้แล้ว แต่ถ้าจะทำจริงๆ แนวทางที่อาจจะเป็นไปได้คือรัฐบาลอเมริกาจ้างเอกชนกลุ่มนี้เป็นหัวหอกในการทำแล้วออกดอลลาร์ดิจิทัลในนามของรัฐบาลกลาง และไม่ว่าจะนำแนวคิดนี้ไปพัฒนาต่อหรือไม่ แรงผลักดันที่เกิดในโลกปัจจุบันก็จะบังคับให้ในที่สุด รัฐบาลสหรัฐก็ต้องตัดสินใจสร้างดิจิทัลดอลลาร์อยู่ดี
"ท๊อป" จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ซีอีโอกลุ่ม กลุ่มบิทคับ กล่าวว่า White Paper ของโครงการดอลลาร์ดิจิทัลที่เผยแพร่ออกมาฉบับแรกนี้ ยังเป็นเพียงแค่ขั้นตอนของการร่างแผนงาน ไม่ได้ลงรายละเอียดในทางเทคนิคแต่อย่างใดเมื่อเทียบกับลิบราซึ่งมีการเตรียมการมานาน และลงรายละเอียดในทางเทคนิคที่เป็นรูปธรรมมากกว่า อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่แตกต่างจากลิบราชัดเจน คือ โมเดลในการสร้างดอลลาร์ดิจิทัล จะยังคงรักษาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระบบการเงินไว้เหมือนเดิม
"โครงการนี้น่าจะเป็นเพียงแค่ตัวเร่ง ให้รัฐบาลสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับเรื่องดอลลาร์ดิจิทัล คือกดดันให้รัฐบาลต้องพูดคุยกันเรื่องนี้มากขึ้น เพราะเปเปอร์ที่ออกมายังเป็นแค่ทฤษฎี และบอกว่ามีแผนจะทำ Pilot Program ยังไม่รู้เลยว่าทำจริงๆ จะเป็นอย่างไร และจะใช้เทคโนโลยีอะไร " จิรายุส กล่าว
จิรายุส เห็นว่าการเกิดขึ้นของโครงการนี้เป็นบวกต่ออุตสาหกรรมคริปโทเคอร์เรนซี อย่างน้อยก็เป็นสัญญาณที่บอกว่าทั่วโลกเริ่มสนใจเรื่องนี้ ต่างจาก 6-7 ปีก่อนที่ผู้คนยังมองบิตคอยน์ คริปโทเคอร์เรนซีเป็นแชร์ลูกโซ่ ซึ่งโครงการนี้อาจจะกดดันและกระตุ้นให้รัฐบาลสหรัฐฯ มีการพูดคุย ค้นคว้าวิจัยในเรื่อง CBDC อย่างจริงจัง เพื่อให้การพัฒนาด้านการเงินของโลกรวดเร็วขึ้น
"ผมมองว่า ไม่ว่าโครงการนี้จะลงมือทำจริงหรือเปล่า หรือไม่ทำจริงก็ตาม แต่อย่างน้อยมันได้สร้างแรงกดดันไปยังรัฐบาลว่าเรื่องนี้ต้องมีการพัฒนาได้แล้วในยุคนี้ อย่างที่ไอเอ็มเอฟกล่าวไว้ว่า แบงก์ชาติไหนไม่ศึกษาเรื่อง CBDC มันก็สายไปเสียแล้ว" จิรายุส กล่าว
โดยสรุป ความเคลื่อนไหวจากทางรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ผ่านมาและจนถึงปัจจุบันในเรื่องการสร้างสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC) ดูแล้วยังไม่ Aggressive เหมือนประเทศอื่น แต่ก็ไม่แน่ว่า สหรัฐฯ โดยเฟดกำลังแอบศึกษาอยู่ก็เป็นได้ จะให้จีนทำนำไปก่อนแล้วนั่งดูตาปริบๆ เห็นทีจะผิดวิสัยมหาอำนาจโลก เมื่อเทียบกับประเทศไทยที่ดู Aggressive กว่าเสียด้วยซ้ำ
ถามว่าประเทศไทยไปถึงไหน? ธนาคารกลางทำอะไรไปแล้วบ้าง โปรดติดตามตอนต่อไป ที่นี่ (เร็วๆ นี้!)
-----------------------------------------------------
อ้างอิง :
-https://ift.tt/2UswKVW
-https://ift.tt/3da1Qc1
-https://ift.tt/37cxS4l
-https://ift.tt/2MqPf8q
-https://ift.tt/2XtNYDW
-https://ift.tt/39mNQc4
-https://ift.tt/2ZM7ugF
-https://ift.tt/3cDmBvP
"การมา" - Google News
June 04, 2020 at 01:01PM
https://ift.tt/3gYmhev
รายงานพิเศษ : ส่องดิจิทัลดอลลาร์ (US CBDC) จะมาเมื่อไหร่ !? - efinanceThai
"การมา" - Google News
https://ift.tt/3cm7t5w
Home To Blog
No comments:
Post a Comment